Thursday, December 19, 2013

IPv6 ความเป็นมา ความหมาย และคุณสมบัติ




ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องของIP หลายๆ คนที่ทำงานด้าน IT อาจจะทราบว่า นั่นย่อมาจาก Internet Protocol และถูกนำไปใช้งานในการติดต่อสื่อสารกันในระบบเนทเวิร์ค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บน Internet
แต่นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลาย ๆ คน ถ้าจะพูดถึงเรื่องของ IPv6 เนื่องจากเป็นอะไรที่ยังค่อนข้างใหม่มาก สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่ง IPv6 ได้ถือกำเนิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 1994 แต่เพิ่งมาเป็นที่กล่าวถึงไม่นานนี้
แล้วเหตุใด ทำไมถึงต้องมีการนำIPv6 มาใช้? แล้ว IPv6 คืออะไร? แตกต่างจากIP ที่เราใช้งานกันในปัจุบันอย่างไร? เราจะมาหาคำตอบกัน



ความเป็นมา
เมื่อเราย้อนเวลากลับไปยังสมัยแรกๆประมาณ ปลายทศวรรษที่ 80 (1988-1989) ที่เราเริ่มจะมีการติดต่อสื่อสารกันบน Internet ในการที่เราจะติดต่อสื่อสารให้เข้าใจนั้น เราจำเป็นจะต้องคุยด้วยภาษาเดียวกัน การคุยด้วยภาษาเดียวกันนี้ เรียกว่าProtocol ซึ่ง Protocol ที่เป็นที่นิยมใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารกันบน Internet เรียกว่า Internet Protocol หรือเรียกสั่้นๆว่า IP ซึ่งในสมัยแรกๆ เวอร์ชั่นของIPที่ใช้ จะเป็นเวอร์ชั่น 4 เราจึงเรียก Protocol นั้นว่า IPv4



กำเนิด IPv6
เมื่อปี 1990 เป็นช่วงที่Internet เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการใช้งานInternetอย่างแพร่หลายในวงกว้าง ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้งาน IPAddress มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนกระทั่ง RIR หรือ Regional Internet Registry ได้ออกมาประกาศว่า จากการที่มีคนมาร้องขอ IP address และมีการแจกจ่ายไปเป็นจำนวนมากแล้วนั้น ขณะนี้ IP address Class B เริ่มจะไม่พอแจกแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น องค์กรที่ดูแลด้านInternet ที่ชื่อ IETF หรือ Internet Engineering Task Force ได้ประกาศคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะเขาได้คิดแล้วว่า หากปล่อยให้มีการร้องขอการใช้งานแบบนี้เรื่อย ๆ IP Address ที่มีอยู่ ก็อาจหมดไปในระยะเวลาอันสั้นแน่นอน
ผ่านไปสี่ปี หลังจากที่ได้ทำงานอย่างหนัก คณะทำงานก็ได้ข้อสรุปของ IPAddress แบบใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน IP แบบเดิมๆไปอย่างมากมาย ซึ่งมีชื่อเรียก IP แบบใหม่นี้ว่า Ipng หรือ IP Next Generation นั่นเอง
พอถึงปี 1995 ข้อกำหนดของ Ipng ก็เรียบร้อย พร้อมจะประกาศใช้และตั้งชื่อให้เป็นIP Versionถัดไป แต่ทว่า... IP version 5 ได้ถูกนำไปใช้เรียบร้อยแล้ว โดย Protocol ที่ชื่อว่า Internet streaming protocol ทาง IETF จึงไม่มีทางเลือก ต้องกำหนดชื่อให้เป็น IPv6 แทน ซึ่งเราสามารถดูข้อกำหนดและ Spec ของ IPv6 ได้จาก RFC1883



แรงผลักดันที่ทำให้มีการคิดค้น IPv6
ปกติ การที่เราจะเริ่มต้นใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่เรายังสามารถใช้งานของเก่าได้ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก การที่จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ๆ จำเป็นจะต้องมีแรงจูงใจให้เราเข้าไปศึกษาและทดสอบ เรื่องของ IPv6 ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแรงจูงใจที่จะทำให้เราเปลี่ยนไปใช้งาน IPv6 มีดังนี้

1. ความต้องการไอพีแอดเดรสที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับกับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ เช่น Smart phone และ Tablet เป็นต้น
    ปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนเราเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะว่า โทรศัพท์มือถือในยุคนี้ สามารถ ทำอะไรได้มากกว่า โทรศัพท์มือถือในยุคก่อน ๆ มากนัก หรือที่เราเรียกกันว่า  Smartphone ซึ่ง Smartphone นี้เอง ต้องการใช้งาน IPAddress เพื่อเชื่อมต่อ Internet 
    ไม่เพียงเท่านั้น อุปกรณ์ Tablet ก็ได้มีการพัฒนา ให้มีความเบาและบางขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้เราสามารถพกไปที่ไหน ๆ ได้สะดวก
    ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ ประชากรในโลกเรา มีอยู่ประมาณ 7.13 พันล้านคน(ข้อมูลจาก http://www.census.gov/popclock/) ถ้าหากว่า 60% ของประชากรทั้งหมด ใช้งาน Smartphone เพียงคนละเครื่อง ก็จะไม่มี IPAddress เพียงพอกับการใช้งาน
2. การสื่อสารระหว่างกันโดยไม่ต้องพึ่งพา NAT เช่นการทำ Online transaction เป็นต้น
     NAT (Network address translation) คือการทำให้ Private IPAddress หลาย ๆ IP สามารถใช้งานผ่าน  Public IPAddress เพียง IP เดียวได้ ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก IPAddress ที่แจกจ่ายไป ไม่เพียงพอกับการใช้งาน 
    การใช้งาน NAT มีข้อเสียอย่างมากในการติดต่อสื่อสารกัน คือ ฝั่งปลายทางจะไม่มีทางทราบได้เลยว่า กำลังติดต่ออยู่กับใคร เนื่องจากว่า Public IPAddress ที่มีการ NAT ออกมานั้น โดยทั่วไป จะไม่สามารถระบุได้ว่า มาจาก Private IPAddress ใด 
3. ความต้องการความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร
    เหตุต่อเนื่องจากข้อ 2 หากว่า เราไม่สามารถตรวจสอบว่า  IPAddress ปลายทางที่คุยกับเรานั้นเป็นใคร ความน่าเชื่อถือของการใช้งาน ก็จะลดลงอย่างมาก

    จะเห็นได้ว่าจากแรงผลักดันทั้งหลาย ทำให้เราต้องมุ่งไปสู่การใช้งาน IPv6 ซึ่งจะแก้ปีญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นได้

โปรดติดตามตอนต่อไป